วันพุธที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ออกพรรษา

               จังหวัดอุดรฯพร้อมจัดงานเทศกาลออกพรรษา
                  โดยปีนี้เน้นชูงานฝีมืองานผ้าชุมชนนาข่า



 อุดรธานี - เทศบาลตำบลนาข่า เมืองอุดรธานี เตรียมจัดงานเทศกาลออกพรรษานาข่าผ้าหมี่-ขิด ครั้งที่ 2 เน้นเล่าเรื่องวัฒนธรรมงานผ้า ของชุมชนนาข่า และกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างรายได้ในพื้นที่
       
       ที่ตลาดผ้าไหมนาข่า ตำบลนาข่า อำเภอเมืองอุดรธานี นายคณิตสร ขุริรัง รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี นายสุพรรณ ชัยมี นายกเทศบาลตำบลนาข่า และ นางธัญภา นิโครธานนท์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุดรธานี ได้ร่วมกันแถลงข่าว จัดงานเทศกาลออกพรรษานาข่าผ้าหมี่ชิดครั้งที่ 2 โดยมีสื่อมวลชน หัวหน้าส่วนภาคราชการ ภาคเอกชน และประชาชนเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก
       
       นายสุพรรณ ชัยมี นายกเทศบาลตำบลนาข่า กล่าวถึงการจัดงานในปีนี้ ว่า สืบเนื่องจากปีที่ผ่านมา ได้มีการจัดงานเทศกาลออกพรรษา นาข่า ผ้าหมี่-ขิด ขึ้น ซึ่งได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว เดินทางมาเที่ยวชมงานมาก ทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์พื้นเมืองมากในช่วงเทศกาล การจัดงานในปีนี้ทางเทศบาลตำบลนาข่า ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2
       
       ซึ่งงานปีนี้ จะการจัดงานให้เล่าเรื่องวัฒนธรรมงานผ้า วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนนาข่าเป็นหลัก โดยงานเทศกาลออกพรรษา นาข่าผ้าหมี่-ขิด ครั้งที่ 2 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-16 ตุลาคม 2554
       
       นายคณิตสร ขุริรัง รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า สำหรับการจัดงานเทศกาลออกพรรษานาข่าผ้าหมี่-ขิด ครั้งที่ 2 นี้ มีรูปแบบการจัดงาน อาทิ การจัดนิทรรศการผ้าพื้นเมือง การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นเมืองราคาถูกของผู้ประกอบการร้านค้าตลาดผ้านาข่า การแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าพื้นเมือง และกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมส่งเสริมการขาย
       
       ซึ่งการจัดงานในช่วงนี้ เป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวเดินทางผ่านไปมาบ้านนาข่า เพื่อไปชมบั้งไฟพญานาค ที่ จ.หนองคาย การจัดงานดังกล่าวนอกจากส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว ยังประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้จักบ้านนาข่ามากขึ้น ซึ่งแหล่งจำหน่ายผ้าพื้นเมืองใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน ริมถนนมิตรภาพอุดร-หนองคาย
       
       ด้าน นางธัญภา นิโครธานนท์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุดรธานี กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า ตลาดผ้านาข่า เป็นตลาดผ้าพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับจากนักท่องเที่ยวและบุคคลทั่วไปทั้งในจังหวัดอุดรธานีและต่างจังหวัด รวมถึงต่างประเทศ ว่าเป็นตลาดผ้าที่ใหญ่ที่สุดและขายถูกที่สุดในโลก
       
       จากข้อมูลในปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวทั้งในพื้นที่และต่างจังหวัด ให้ความสนใจเดินทางมาเลือกซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์ของชุมชนนี้เป็นจำนวนมาก ทำให้รายได้หมุนเวียนจำนวนมาก การจัดงานในปี 2554 ปีนี้
       
       ตลอดทั้งงานจะมีการมีเงินหมุนเวียนแต่ละปีจำนวนไม่น้อย ซึ่งในปี 2553 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเดินทางมางานวันละไม่ต่ำกว่า 2,000 คน ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มสูงขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ จากยอดขายปกติ เฉลี่ยแล้วผู้ประกอบการมายได้วัน 50,000 บาท 




วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คณะศึกษาดูงาน


บรรยากาศ การต้อนรับ คณะศึกษาดูงานสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา สมุทรสงคราม วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๐
ณ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา๙๒(ชุมชนนาข่า)








ขอขอบคุณรูปภาพจาก โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๙๒ (ชุมชนนาข่า)

วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560

แหล่งผลิตผ้าอีสานระดับ 5 ดาว


ตลาดผ้านาข่า จังหวัดอุดรธานี ช้อปผ้าไหมลายขิด แหล่งผลิตผ้าอีสานระดับ 5 ดาว





ตลาดผ้านาข่า จังหวัดอุดรธานี ที่เที่ยวอินเทรนด์ ตลาดหัตถ์ศิลป์ของทางภาคอีสาน ตลาดผ้าไหมคุณภาพ
หนึ่งในสินค้าโอทอประดับห้าดาว ประจำชุมชนบ้านนาข่า โดยเฉพาะ ผ้าไหมลายขิด เอกลักษณ์ลายผ้าอีสาน
สถานที่ท่องเที่ยวที่เหมาะมาเลือกซื้อหาผ้าสวย ติดไม้ติดมือกลับไปเป็นของฝาก 



ตลาดผ้านาข่า อยู่ในเขตอำเภอเมือง เกิดจากการรวมกลุ่มทอผ้า และมีการบริหารจัดการในเชิงธุรกิจ
จากกลุ่มใหญ่ แยกมาเป็นกลุ่มย่อย ภายในครัวเรือน ญาติพี่น้องแล้วจะส่งมาจำหน่ายที่ร้านของประธานชุมชน
โดยจะมีเครือข่ายในสิ่งทอตามหมู่บ้านในตำบลนาข่า และหมู่บ้านใกล้เคียง

บริเวณตลาดผ้านาข่า เปิดเป็นเส้นทาง ถนนคนเดินผ้าไหม ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเลือกซื้อ และชมความงามของผ้า
ที่มีการออกแบบให้สวมใส่ได้ โดยเฉพาะ ผ้าไหมลายขิด ซึ่งแต่ละผืนผ่านการทอเก็บขิด ลวดลายของขิด
จนมีความสวยงาม มีความมัน วาว นูน และมีเหลือบ เป็นเอกลักษณ์ของผ้าอีสาน โดยแต่ละร้าน ได้นำผ้ามาแปรรูป
เป็นเสื้อ กางเกง กระโปรง และผ้าพันคอ จนน่าสวมใส่

นอกจากตลาดผ้านาข่า อีกแหล่งหนึ่ง ที่ไม่ควรพลาด ก็คือ ชุมชนบ้านนาข่า สถานที่ผลิตผ้าไหม
และตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยชาวบ้านนาข่า ให้นักเดินทางทั้งหลาย
ได้แวะชมความประณีต ของหัตถศิลป์ฝีมือคนอุดรธานี



วันอังคารที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ปลูกดาวเรืองถวายพ่อ



ปลูกดาวเรืองถวายพ่อ



ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยในการจัดกิจกรรมเพื่อให้พสกนิกรชาวไทยมีส่วนร่วม นั่นก็คือ การปลูกดอกดาวเรือง หรือดอกไม้สีเหลือง เพื่อใช้ประดับสถานที่ราชการ สถานที่สำคัญของจังหวัด บริษัท ห้างร้าน และบ้านเรือนประชาชน


ชุมชนนาข่า เป็นส่วนหนึ่งในการปลูกดาวเรืองในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 




การทำนาในชุมขนนาข่า


การทำนาในชุมชนนาข่า




เดือน
กิจกรรม
มกราคม ถึง มีนาคม-ไถกลบฟาง หว่านปุ๋ยพืชสดหลังทำนา (ถั่วพร้า) ในเดือนมกราคมแล้วไถดะ (ไถกลบ) ในเดือนมีนาคม ถึง เมษายน เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ในปีต่อไป
เมษายน-การเตรียมพันธุ์ / การคัดเลือกพันธุ์ โดยวิธีการเตรียมพันธุ์ เลือกจากลักษณะรวงใหญ่ รวงกัมเพราะหนัก เมล็ดสมบูรณ์เต็ม แล้วแยกพันธุ์ ตากผึ่งแดด ใส่กระสอบมัดมิดชิดแขวนไว้ที่ร่ม-เตรียมปุ๋ยหมักชีวภาพเพื่อบำรุงดิน และเตรียมดิน
พฤษภาคม-การเตรียมดิน โดยการไถฮุด / ไถดะ ครั้งที่ 1 เพื่อให้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยพืชสดย่อยสลายไป ทิ้งไว้ประมาณ 2 อาทิตย์
มิถุนายน-การตกกล้า (สำหรับการทำนาดำ)-ไถเตรียมแปลง ไถกลบครั้งที่ 2 ช่วงเดียวกับการตกกล้าเพื่อทำให้ดินแตกละเอียด ร่วนขึ้น-การบันทึกแผนผัง แปลงตกกล้าและแปลงปักดำ และติดป้ายชื่อพันธุ์ข้าวแต่ละสายพันธุ์
กรกฎาคม-เมื่อกล้าอายุประมาณ 1 เดือน ในเดือนกรกฏาคม ทำการไถแปร (ไถสวนทางเดิม) พร้อมกับใส่ปุ๋ยชีวภาพ แล้วไถคราดให้พื้นที่เสมอระดับกัน สูบน้ำเข้านาพอประมาณ พอให้ดินเป็นตม (โคลน)-การถอนกล้า – ปักดำ (โดยการปักดำเป็นแถวเป็นแนว)
สิงหาคม ถึง ตุลาคม-การดูแลหลังการปักดำ-การออกตอก-การออกรวง-การเก็บเกี่ยว-สังเกตความชื้นในแปลง โดยการควบคุมระดับน้ำในแปลง-สังเกตและกำจัดศัตรูพืช กำจัดวัชพืชที่ทำลายต้นข้าว เช่น ปู หอย และ กำจัดวัชพืช จำพวกหญ้าต่างๆ เช่น หญ้าไข่เขียด ผักอีฮิน หญ้าโสน เป็นต้น-การตัดข้าวปน โดยถอนข้าวปนที่ขึ้นนอกแถว-การบันทึกการเจริญเติบโตของพันธุ์ข้าว จดบันทึกคุณลักษณะประจำพันธุ์ข้าวแต่ละสายพันธุ์
ตุลาคม-บันทึกการออกรวงข้าว บันทึกการเจริญเติบโตของข้าวกลางและข้าวหนัก-เก็บเกี่ยวข้าวเบา
พฤศจิกายน ถึง ธันวาคม-ทำการจดบันทึกพันธุ์ข้าวกลาง และข้าวหนักที่ทยอยออกดอกออกรวงไปตามลำดับ-เก็บเกี่ยวข้าวกลางและข้าวหนัก-นวดข้าว เก็บข้าว




วันพุธที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560

การขุดค้นแหล่งโบราณคดี วัดนาคาเทวี




การขุดค้นแหล่งโบราณคดี วัดนาคาเทวี  

ตำบลนาข่า อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี




ประมวลภาพการดำเนินงาน ของกลุ่มโบราณคดี ในการขุดค้นแหล่งโบราณคดีวัดนาคาเทวี ตำบลนาข่า อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๙-๒๐ มกราคม ๒๕๖๐
          จากการขุดค้นพบเศษภาชนะดินเผาประเภทเครื่องถ้วยล้านช้าง กล้องยาสูบ ก้อนอิฐ กระเบื้องดินเผา กำหนดอายุเบื้องต้นอยู่ในสมัยวัฒนธรรมล้านช้าง ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๔ 



วันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560

การวางแผนกลยุทธ์

1.ภารกิจ (Mission)
- หน่วยงานของเราเป็นหน่วยงานที่เป็นที่รู้จักในชุมชน
-เป็นหน่วยงานที่นำเทคโนโลยีมาเป็นส่วนช่วยในการเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์ข่าวสาร
-เป็นหน่วยงานที่เป็นประโยชน์แก่สังคม
2.โครงร่างบริษัท (Company Profile)
 ชื่อหน่วยงาน : ChumChon NaKa (ชุมชนนาข่า)
 ก่อตั้งเมื่อ ปี 2016
  ลักษณะของหน่วยงาน เป็นหน่วยงานที่ให้ความรู้ข่าวสารในชุมชนนาข่าและให้ประโยชน์คนในชุมชนนาข่า
3.การวิเคราะห์สภาพวดล้อมภายนอก
  (การวิเคราะห์ SWOT) 
จุดแข็ง
-ด้านเนื้อหาข้อมูลในชุมชน เป็นเนื้อหาที่สามารถอัพเดทได้เรื่อยๆ
-ใช้เทคโนโลยีในการบอกข่าวสารเรื่องราวต่างๆ
-รูปแบบการตกแต่งหน้าเพจหรือบล๊อคที่เปลี่ยนแปลงให้น่าสนใจอยู่เสมอ
จุดอ่อน
-เรื่องเวลาที่จะไปหาข้อมูลในพื้นที่ มีเวลาน้อยที่ทำให้ได้ข้อมูลที่ไม่แน่น
-เรื่องราวไม่น่าสนใจ
โอกาส
-มีสถานที่ ที่สร้างรายได้ให้ชุมชนได้เช่น ถนนคนเดิน ตลาดผ้านาข่า
อุปสรรค
-เศรษฐกิจไม่ดีอาจส่งผลต่อผู้คนในชุมชนขาดรายได้
-ในโซเชียลมีเดียอาจมีผู้คนบางกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึง อาจจะทำให้ไม่ได้รับข้อมูลในหน่วยงาน
4.วัตถุประสงค์
-เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศ
-สร้างภาพลักษณ์ในชุมชนให้ดีขึ้น
5.แผน (Plans)
-อัพเดทเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในชุมชนไปเรื่อยๆ
-พัฒนาเพจ/บล็อคให้น่าสนใจยิ่งๆขึ้นไปในอนาคต
6.นโยบาย (Policies)
  นโยบายของหน่วยงาน ChumChon NaKa  จะคำนึงถึงการให้ข้อมูลข่าวสารของทางหน่วยงานที่ถือเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้มากที่สุด โดยจะมีช่องทางติดต่อ ดังนี้ (Fanpage  FB , Blogger , Twitter)
7.การปฏิบัติตามกลยุทธ์ (Strate Implementation)
-ลงพื้นที่หาข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยงานให้ได้มากที่สุด

วันพุธที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2560

งานมหกรรมโฮมพาแลง


งานมหกรรมโฮมพาแลง แดนผ้าหมี่ขิดจังหวัดอุดรธานี อำเภอเมืองอุดรธานี จัดระหว่างวันที่ 1-15 ธันวาคมของทุกปี
ในเดือนธันวาคมของทุกปี จังหวัดอุดรธานีจะจัดงานกาชาดทุ่งศรีเมือง อุดรธานี มหกรรมโฮมพาแลง’ แดนผ้าหมี่ขิดขึ้น คำว่า โฮมพาแลง’ เป็นภาษาถิ่นอีสาน โฮม’ หมายถึง รวม พา’ หมายถึง ถาดหรือสำรับใส่กับข้าว และ แลง’ หมายถึง เวลาเย็น ดังนั้น โฮมพาแลง’ จึงหมายถึง การรับประทานอาหารเย็นร่วมกัน เดิมเป็นเพียงงานเล็กๆ ที่จัดขึ้นเพื่อเซ่นสรวงบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เมื่อถึงช่วงเย็นแต่ละครอบครัวก็จะมีการรับประทานอาหารร่วมกัน มีการบรรเลงเพลงพื้นบ้าน ร่วมกันฟ้อนรำ ถือเป็นการผ่อนคลายหลังทำงานกันมาตลอดปี ปัจจุบันนอกจากจะเป็นการรับประทานอาหารร่วมกันแล้ว ยังเป็นโอกาสให้ได้พบปะพูดคุย และชมการแสดงร่วมกัน ถือเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ดีงามและปฏิบัติกันมาช้านาน 
 

ขอขอบคุณรูปภาพจาก Peng_Anucha

วันอังคารที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2560

ที่พักนาข่า


นาข่าบุรี รีสอร์ท



            หนึ่งในโรงแรม รีสอร์ทที่สวยงามและสมบูรณ์แบบ เพียง 14 กม. หรือ 15 นาที จากตัวเมืองอุดรธานี และสนามบินนานาชาติ บนเส้นทางถนนมิตรภาพ อุดร-หนองคาย 
ครบครันกับห้องจัดเลี้ยงประชุมสัมมนา และสนุกกับสระน้ำ สไลเดอร์ ขนาด 4 เลน
นาข่าบุรี ใช้เป็นจุดพักเพื่อเดินทางท่องเที่ยวในที่ต่างๆ อย่างสะดวกสบาย เช่น คำชะโนด วัดป่าภูก้อน ผาตากเสื้อ อุทยานภูพระบาท พิพิธภัณฑ์แห่งชาติบ้านเชียง และ ทะเลบัวแดง ฯลฯ
หรือใช้เป็นจุดพักเพื่อจะเดินทางไป จังหวัดหนองคาย กราบหลวงพ่อพระใส เยี่ยมชมสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เพื่อข้ามไปยังนครเวียงจันทน์ ก็สะดวกสบาย เพราะใช้เวลาเดินทางเพียง 30นาที


นาข่าบุรีรีสอร์ทคือหนึ่งในโรงแรมรีสอร์ทที่สวยและสมบูรณ์แบบที่สุดในภาคอีสานตอนบนตั้งอยู่ท่ามกลางสวน ไม้ดอกไม้ประดับนานาพันธุ์ ที่แวดล้อมด้วยสายธาร และน้ำใส แลดูร่มรื่นสงบเงียบและอบอุ่น สำหรับผู้ที่มาสัมผัส เพียง 14 กิโลเมตร หรือ 15 นาที จากตัวเมืองอุดรและสนามบินพาณิชย์ บนเส้นทางถนนสายธุรกิจ มิตรภาพอุดร-หนองคาย ด้วยบริการห้องพักในระดับมาตรฐาน สากล 44ห้อง ห้องพิเศษ 4 ห้อง บ้านล้อมน้ำสไตล์วิลล่า 12 หลัง บ้านพักสำหรับครอบครัว 1 หลัง ครับครันทั้ง สระว่ายน้ำ ห้องประชุมจอมขวัญศูนย์สัมมนาชานธารา และ ภัตตาคารครัวข้าวหอม 



วันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2560

การทอผ้าไหมหมี่ขิด

ผ้าไหมหมี่ขิด หมู่บ้านนาข่า จ.อุดรธานี


ผลิตภัณฑ์ผ้าหมี่-ขิด ซึ่งเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ของคนอีสานในนาม “ธานีผ้าหมี่ขิด” จากภูมิปัญญาท้องถิ่นดั่งเดิม จากบรรพบุรุษได้สืบทอดจากรุ่นสู่-รุ่น เป็นวัฒนธรรมคู่บ้านคู่เมืองอุดรฯ ผ้าหมี่-ขิดเป็นสัญลักษณ์และเอกลักษณ์ของชาวอุดรธานี และเป็นผ้าทอมือที่ยาวที่สุดในโลก ดั่งสโลแกนที่ว่า
“ น้ำตกจากสันภูพาน อุทยานแห่งธรรม
อารยธรรมห้าพันปี ธานีผ้าหมี่ขิด
แดนเนรมิตหนองประจักษ์ เลิศลักษณ์กล้วยไม้หอม อุดรซันไฌช์”
ต่อมาทางกลุ่มของเราได้สืบสานนำมาประยุกต์ลวดลายให้ทันสมัยให้เข้าสู่ระดับสากล ที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ โดดเด่นและสวยงาม ผลิตภัณฑ์ผ้าหมี่ขิด เป็นตำนานผู้หญิงไทยอีสานว่า “นุ่งซิ้นมีคอมีหัวมีตีน รู้จักที่สูงที่ต่ำ ที่ บ่ นอนปล่อยตีน” ซึ่งเป็นวัฒนธรรมอีสาน นอกจากนี้ยังได้ผสมผสานให้เข้ากับปัจจุบัน เพื่อให้ตรงต่อความต้องการของลูกค้า และยังคงสืบสาน อนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้านอีสานไว้ตลอดกาลฯ
อัตลักษณ์(เอกลักษณ์)/จุดเด่นของผลิตภัณฑ์
-การคัดเส้นด้าย    
-ดูแลรักษาง่าย
-การคัดเลือกวัตถุดิบ             
-เส้นผ้าไหม(Thai silk) 100%
-เส้นใยประดิษฐ์หรือเส้นใยสังเคราะห์ -สวมใส่แล้วดูสวยงามโดดเด่น
-การออกแบบลวดลาย ทันสมัย
 มาตรฐานและรางวัลที่ได้รับ
 -ได้รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมชนิด Royal Thai Silk
-ได้ใบรับรองจากกระทรวงอุตสาหกรรม มผช.52/2546
-ได้ใบรับรอง OTOP ระดับ 5 ดาว
 ความสัมพันธ์กับชุมชน
ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมให้กับเยาวชนได้สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้คงอยู่จากรุ่นสู่รุ่น เป็นหลักในการสนับสนุนกิจกรรมและการวิชาชีพของเด็กในชุมชน ตลอดจนการสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมในท้องถิ่นให้คงอยู่ตลอดไป
 เทคนิค/เคล็ดลับในการผลิต
-การซักด้วยมือ น้ำสบู่อ่อนหรือซักแห้ง
-ผึ่งลมไว้ในที่ร่มโกรก
-รีดด้วยความร้อนปานกลาง
-ผลิตภัณฑ์ผ้าหมี่ขิดต้องใช้เทคนิคนำมาประยุกต์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ โดยผ่านกระบวนการทอ, ตัด เป็นที่เรียบร้อย นำมาหมักด้วยสีย้อม หรือสีเคมีอีกครั้ง

-ต้องใช้สีเคมีที่ได้รับมาตรฐานจากอุตสาหกรรม

วันศุกร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2560

วัดนาคาเทวี

ประวัติวัดนาคาเทวี


รูพญานาค

     วัดนาคาเทวี เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของชาวตำบลนาข่า ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลนาข่า สภาพเดิมวัดนาคาเทวีเป็นเนินเขาที่มีขนาดไม่สูงนัก ที่เรียกกันว่า ภูน้อย (คำว่า ภู ภาษอีสาน หมายถึง ภูเขา) เป็นป่าดงดิบ มีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่มากมาย เป็นที่น่าเกรงกลัวของชาวบ้าน จนไม่มีใครกล้าที่จะผ่านบริเวณนี้
     เมื่อสมัยปี พ.ศ. ๒๔๕๔ หลวงปู่หน่อย ญาณยุตโต (สกุลเดิม ละชินลา) ซึ่งเป็นชาวบ้านตำบลนาพู่ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี ได้อุปสมบทจำพรรษาอยู่ที่วัดบัวจูม (บ้านขาวในปัจจุบัน) ได้ธุดงค์มาพร้อมกับชาวบ้าน ๕ ครอบครัว ประกอบด้วย ๑. นายอ่ำ กัลป์ยาบุตร ๒. นายไทโท่ ๓. นายใหญ่ ละชินลา ๔. นายคำมี หนูราช และ ๕. นายรอด วะจีประศรี หลวงปู่หน่อยได้ปักกรดจำพรรษา ณ ภูน้อยแห่งนี้ และได้ทำการเสี่ยงไม้วา (เป็นประเพณีดั้งเดิมของการเสี่ยงทาย) เมื่อทำการเสี่ยงทายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลวงปู่หน่อยได้เอ่ยวาจาขึ้นว่า “ คั้นเฮ็ดดีสิเป็นบ้านเป็นเมือง คั้นเฮ็ดบ่ดีสิได้หอบผ้าแลนข้ามทุ่ง ” เมื่อได้ขออนุญาตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลวงปู่หน่อยก็ได้เดินสำรวจบริเวณวัดขณะที่ปฏิบัติธรรม ปรากฏว่าสถานที่แห่งนี้คงจะเป็นวัดร้างที่มีผู้คนอาศัยมาก่อน เพราะได้พบเห็นฐานพร้อมพระพุทธรูปแต่ไม่มีเศียร และบริเวณใกล้กันได้พบเห็นสิ่งมหัศจรรย์ ลักษณะเป็นรูเล็กๆ อยู่ด้านหลังอุโบสถเก่า (ความกว้าง ๑๕ นิ้ว) ความลึกไม่ปรากฏชัดเจน เมื่อถึงวันพระวันโกนชาวบ้านจะเห็นควันพวยพุ่งออกมาจากรู และเล่าขานสืบกันมาว่า ถ้าวันใดมีควันลอยพวยพุ่งออกมา ในไม่ช้าฝนจะตกลงมาทุกครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก บริเวณวัดแต่ก่อนจะมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาจากการสอบถามผู้สูงอายุในหมู่บ้าน บริเวณหน้าวัดนาคาเทวีจะมีต้นยางคู่ มีบ่อน้ำ  และบริเวณด้านทิศเหนือจะมีแอ่งน้ำที่เรียกว่า บวกเงือก ซึ่งน้ำจะไม่แห้งตลอดปี (ปัจจุบันถมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว) ถ้าวันใดฝนตกจะมีงูใหญ่มาเล่นน้ำเป็นประจำ ในช่วงวันพระวันโกน  และวันเข้าพรรษาจะได้ยินเสียงฆ้องดังกระหึ่ม มีดวงแก้วลอยออกมา มีควันพวยพุ่งออกมาจากรู และได้ยินเสียงดังกึกก้องเป็นประจำ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ตามที่หลวงปู่หน่อยได้นิมิตว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่อาศัยของพญานาคตัวเมียที่คอยปกปักรักษาคุ้มครองผู้ที่ประพฤติปฏิบัติชอบ และเชื่อกันว่าเสียงร้องที่ดังออกจากรูเป็นเสียงร้องของ “ พญานาคตัวเมีย ” หลวงปู่หน่อยจึงได้ตั้งวัดขึ้น ณ แห่งนี้ โดยตั้งชื่อว่า “ วัดนาคาทวี ” และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “ บ้านนาคา ” ต่อมาชื่อหมู่บ้านเรียกผิดเพี้ยนไปเป็น “ บ้านนาข่า ” แต่วัดยังเป็นชื่อวัดนาคาเทวีเช่นเดิม
   
พระอุโบสถ
     หลวงปู่หน่อย ได้สร้างวัดขึ้นแล้ว จึงคิดบูรณะซ่อมแซมพระอุโบสถครอบบริเวณเดิม ร่วมกับชาวบ้านที่อพยพตามมา โดยได้บูรณะพระที่พบมีแต่ลำตัวแต่ไม่มีเศียร ข้างในเป็นทองคำ นั่งอยู่บริเวณพระอุโบสถเก่าที่รกร้างกลางป่า ซึ่งพระองค์นี้เป็นพระพุทธรูปที่มีอยู่แต่เก่าก่อนไม่ได้ทำการสร้างขึ้นมาใหม่แต่อย่างใด สันนิษฐานเป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง จากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หลวงปู่หน่อยจึงได้สร้างเศียรพระขึ้นใหม่และใช้ปูนโอบองค์เดิมไว้ ให้เป็นพระประธานในพระอุโบสถ แต่การก่อสร้างอุโบสถไม่แล้วเสร็จหลวงปู่หน่อยได้มรณภาพเสียก่อน ซึ่งในการสร้างพระอุโบสถนั้นช่างทำการขุดไปที่ใด ก็จะมีพระพุทธรูปกระจัดกระจายเต็มไปหมด หลวงปู่บอกว่าให้เอาไว้ที่เดิมอย่านำขึ้นมา จากสาเหตุนี้เองที่หลวงปู่ห้ามผู้หญิงเข้าไปในอุโบสถเด็ดขาด เพราะภายในและด้านล่างล้วนมีแต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักรักษาให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุขไม่สมควรที่จะลบหลู่ นอกจากนั้นประตูอุโบสถก็เปิดไม่ได้ต้องปิดไว้ คนจะนอนขวางประตูก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะถือว่าเป็นการปิดกั้นทางเดินหลวงปู่ไสย์ ธมมธินโน เจ้าอาวาสองค์ต่อมาที่ได้ก่อสร้างพระอุโบสถให้แล้วเสร็จใน ปี พ.ศ. ๒๕๐๕
   
พระธาตุเจดีย์ 3 องค์
     พระธาตุเจดีย์สามยอด ที่ตั้งอยู่ ณ บริเวณด้านหลังพระอุโบสถ สมัยก่อนนั้นจะมีพระธาตุเจดีย์องค์ใหญ่ ซึ่งเป็นพระธาตุเจดีย์ที่มีอยู่แต่เก่าก่อนพร้อมๆกับที่พบพระพุทธรูปทองคำที่มีแต่ลำตัวแต่ไม่มีเศียร สภาพองค์เจดีย์ในสมัยนั้นมีสภาพเก่า ชำรุด ทรุดโทรมมาก จากนั้น นายสาย โมรา ผู้ใหญ่บ้านนาข่าในสมัยนั้นได้ร่วมกับชาวบ้าน ได้คิดที่จะริเริ่มทำการบูรณะซ่อมแซมองค์พระธาตุเจดีย์ที่ชำรุด ทรุดโทรม ให้มีสภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิม โดยได้ทำการบูรณะซ่อมแซมครอบปูนโอบองค์เดิมไว้ เพื่อให้ชาวบ้านนาข่าได้ทำการเคารพสักการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่มีอยู่แต่เก่าก่อน
     ในปี พ.ศ.๒๔๙๙ เมื่อหลวงปู่หน่อยได้มรณภาพ ในช่วงสี่ถึงห้าปีหลังที่หลวงปู่หน่อยได้มรณภาพลง ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านก็ได้ร่วมกันคิดที่จะสร้างพระธาตุเจดีย์เพื่อจะบรรจุอัฐิธาตุของหลวงปู่หน่อยขึ้นมาอีก ซึ่งการก่อสร้างครั้งนี้จะเป็นการก่อสร้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งสถานที่ก่อสร้างดังกล่าวจะต้องอยู่ใกล้บริเวณพระธาตุองค์เดิมที่มีแต่เก่าก่อน จากนั้นในปี พ.ศ.๒๕๕๒ ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านได้ร่วมกันที่จะสร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นมาอีกหนึ่งองค์ เพื่อบรรจุอัฐิธาตุของหลวงปู่ไสย์ เจ้าอาวาสวัดนาคาเทวีในสมัยนั้น ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่หน่อย ผู้ทรงมีความรู้ ความสามารถในด้านวิทยาอาคมมากมาย ก่อนที่จะมีการสร้างพระธาตุเจดีย์นี้ขึ้น ชาวบ้านได้ทำพิธีขอขมาภูมิเจ้าที่ก่อน ในการทำพิธีได้มีร่างทรงเป็นผู้ทำพิธีดังกล่าว จากการทำพิธี ผลปรากฏว่าภูมิเจ้าที่ได้บอกว่า การที่ก่อสร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นมาอีกนั้น จะต้องทำการก่อสร้างให้ติดกับเจดีย์อัฐิธาตุของหลวงปู่หน่อยซึ่งสร้างขึ้นไว้อยู่ก่อนแล้ว  การสร้างนั้นให้สร้างเป็นเจดีย์คู่ เหมือนเจดีย์คู่พี่คู่น้อง แต่ต้องมีข้อแม้ว่าการก่อสร้างเจดีย์ที่บรรจุอัฐิธาตุหลวงปู่ไสย์จะต้องสร้างให้มีขนาดเล็กลงมาอีก ห้ามสร้างให้เท่ากับพระธาตุเจดีย์ของหลวงปู่หน่อย โดยให้ลดขนาดของเจดีย์ลงทุกด้านทุกส่วน จำนวน ๔๔ เซนติเมตร เหตุผลก็เพื่อไม่ให้เป็นการเทียบรัศมีครูบาอาจารย์ ลูกศิษย์จะต้องมีฐานะต่ำกว่าอาจารย์ห้ามอยู่เหนือกว่าเด็ดขาด ด้วยเหตุนี้เองพระธาตุเจดีย์สามองค์ ที่ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ จึงมีขนาดไม่เท่ากัน การก่อสร้างบูรณะก็ไม่ได้สร้างพร้อมๆกัน และแต่ละพระธาตุก็จะมีอัฐิธาตุของพระเถระที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ที่เป็นตำนานเลื่องลือมาแต่โบราณกาลของบ้านนาข่า ยกเว้นพระธาตุเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่กว่าพระธาตุเจดีย์องค์อื่นๆ จะไม่มีอัฐิธาตุที่บรรจุอยู่ในพระธาตุเจดีย์ เพราะเจดีย์ดังกล่าวเป็นเจดีย์ที่มีมาแต่เก่าก่อนที่ชาวบ้านร่วมกันบูรณะปฏิสังขรณ์ครอบองค์เดิมขึ้นมา
  
เอาหินมาปิดรูพญานาค
     เมื่อหลวงปู่หน่อยได้บูรณะ ซ่อมแซมพระอุโบสถ จึงได้ปิดรูพญานาคไว้เพราะเกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อผู้คน เพราะรูดังกล่าวมีความกว้างและมีความลึกมาก จึงได้เอาหินมาปิดรูพญานาคไว้ จากปรากฏการณ์การปิดรูพญานาคทำให้เกิดเหตุการณ์กับผู้นำหมู่บ้านคนหนึ่ง คือ ได้เกิดอาการร้อนรนตามตัว นอนไม่ได้ร้อนเหมือนเอาไฟมาลน จึงได้ทำพิธีเข้าทรงปรากฏว่าอาการดังกล่าวเกิดจากการปิดรูพญานาค เพราะเมื่อปิดรูแล้วก็ไม่สามารถออกมาข้างนอกได้  จึงได้ขุดรูขึ้นมาใหม่ ปรากฏว่าอาการก็หายไปซึ่งเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ในส่วนที่เป็นข้อสันนิษฐานว่าพญานาคพญานาคที่บ้านนาข่ากับหลวงปู่ศรีสุทโธ ที่วัดคำชะโนด อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี นั้น ไม่ปรากฏเป็นหลักฐานว่าสืบเชื้อสายกันอย่างไร  หรืออาจเป็นสกุลนาคเหมือนกันก็เป็นได้
     
ขุดพบพระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง
     ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๘ นายสาย โมรา ผู้ใหญ่บ้านนาข่าในขณะนั้น ได้ชักชวนชาวบ้านเพื่อก่อสร้างพระธาตุเจดีย์องค์เก่าที่ชำรุดทรุดโทรม ในการขุดเพื่อวางฐานรากได้ขุดพบไห ๑ ใบ เมื่อนำมาเปิดรูปรากฏว่าข้างในมีพระพุทธรูปทองคำ ๘ องค์ พระพุทธรูปเงิน ๑๑ องค์ ซึ่งกรมศิลปากรได้นำขึ้นทะเบียนไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และสันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง โดยกรมศิลปากรได้มอบให้ทางวัดเก็บรักษาไว้ จึงได้ทำการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ซึ่งเป็นการสร้างพระธาตุขึ้นตามความคิดเห็นของชาวบ้านและนายช่าง รวมทั้งธาตุบรรจุอัฐิของหลวงปู่หน่อยและหลวงปู่ไสย์
   
เป็นที่ปลาบปลื้มของพสกนิกรชาวบ้านนาข่า
     ในปี พ.ศ.๒๔๙๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช หลังจากเสด็จขึ้นขึ้นครองราชย์สมบัติ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรชาวภาคอีสาน หลวงปู่หน่อยพร้อมชาวบ้านได้จัดเตรียมปะรำพิธีคอยต้อนรับพระองค์ฯ โดยไม่มีหมายกำหนดการว่าจะเสด็จมาเยือนเมื่อใด เมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาถึงบ้านนาข่าได้สั่งให้รถยนต์พระที่นั่งจอด และเสด็จลงมาเยี่ยมทักทายประชาชน ซึ่งมีหลวงปู่หน่อย นายอินทร์ สระแก้ว ผู้ใหญ่บ้านให้การต้อนรับ นายโจ๊ะ ถวายนกยูง นายฮ้อยอินทร์ ถวายเหล็กไหล และเป็นหมู่บ้านแห่งแรกในภาคอีสานที่มีการถวายผ้าไหมมัดหมี่แด่สองพระองค์ ซึ่งนับเป็นเกียรติ ประวัติแก่ชาวบ้านนาข่าเป็นอย่างมาก หลวงปู่หน่อยได้กลายเป็นพระเถระที่มีชื่อเสียงโด่งดังในด้านวิทยาอาคม และเมตตามหานิยม เป็นที่ประจักษ์โดยการปราบภูตผีปีศาจทุกถิ่นที่นิมนต์ไป บางครั้งเดินทางไปเป็นเวลาถึงสามเดือน จึงได้กลับวัด เช่น จังหวัดหนองคาย แต่ก็เต็มใจที่จะรับใช้ญาติโยมที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น จนในปี พ.ศ.๒๔๙๙ ท่านก็ได้มรณภาพ
   
พระพุทธรูปปางพระมหาภิเนษกรมณ์
     ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ พระนิกร สุขิโต พระลูกวัด (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนาคาเทวี) ได้มีเจตจำนงที่จะสร้างพระพุทธรูปสักองค์หนึ่ง ในราคาประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาท จึงได้ปรึกษากับญาติโยมทุกคนก็เห็นด้วย จึงได้ทำพิธีขอสร้างจากภูมิในพระอุโบสถ แต่ปรากฏว่าภูมิไม่อนุญาต ถ้าหากจะสร้างองค์เล็กให้สนร้างขนาดใหญ่เลย และชี้สถานที่ที่จะก่อสร้างให้พร้อมเสร็จ นอกจากสถานที่นี้แล้วห้ามไปสร้างที่อื่น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงได้มีการประชุมปรึกษาหารือในการดำเนินการ โดยมีมติสร้างพระพุทธรูปปางพระมหาภิเนษกรมณ์ มีหน้าตักกว้าง ๘.๙๙ เมตร สูงรวมฐาน ๑๘.๙๙ เมตร งบประมาณ ๑๐,๐๐๐,๐๐๐  บาท (สิบล้านบาทถ้วน) ชั้นล่างจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เรียนรู้ชุมชน ระยะ ก่อสร้าง ๑๐ ปี เมื่อได้ข้อสรุปจึงได้ให้ช่างก่อสร้างดำเนินการ โดยใช้รถแมคโครปราบที่เพื่อวางฐานราก ซึ่งในวันที่ ๒๒ และ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ปรากฏว่าได้พบโครงกระดูก เครื่องใช้ ภาชนะ เครื่องปั้นดินเผาจำนวนมาก จึงได้ให้ผู้รับเหมาระงับการก่อสร้างไว้ก่อน โดยมอบหมายให้นายสุธน หนูโดด รองผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองนกเขียนโพนทัน (ขณะนั้น) ประสานงานกับนายเริงฤทธิ์ พลนามอินทร์ วัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานี ติดต่อกับเจ้าหน้าที่จาก พิพิธภัณฑ์บ้านเชียงมาศึกษาในเบื้องต้น จากนั้นได้ประสานงานกับศิลปากรภาคที่ ๙ จังหวัดขอนแก่น มาพิสูจน์เพื่อหาหลักฐานความเป็นมา โดยได้นำโครงกระดูกเพศชายและเพศหญิงขึ้นมา พร้อมทั้งภาชนะดินเผาส่วนหนึ่งขึ้นมาศึกษา แล้วให้กลบส่วนอื่นไว้ตามเดิม ซึ่งจากการพิสูจน์หลักฐานเป็นมนุษย์ที่มีอายุไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ ปี สังเกตจากภาชนะเครื่องปั้นดินเผาที่มีลายเชือกธรรมดา ยังไม่มีสีสันแต่เติมเหมือนของบ้านเชียง
    
     วันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๕ ทำพิธีพุทธาภิเษกและเบิกเนตรพระพุทธศรีรัตนมหามงคลนาคาเทวี โดยมีหลวงปู่ขาว พุทธรักขิตโต วัดป่าคูณคำวิปัสสนา อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร ซึ่งมีคุณยายถ่ำ พุทธาผา อายุ ๑๐๓ ปี พร้อมครอบครัวเป็นประธาน และมอบเงินสนับสนุนจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท มีรายนามผู้ร่วมบริจาคดังนี้ นายสุธน – นางทองม้วน หนูโดด ๑๐๐,๐๐๐ บาท คุณยายน้อย ช่วยค้ำชู นายสมจิต นางถัง เพ็งวงษ์ จำนวน ๑๐๐๐,๐๐๐ บาท พระพุทธชินราช ๑ องค์ จำนวน ๒๖๐,๐๐๐ บาท นายคูณ – นางทองก้อน  พรหมวงศ์ ๑,๐๐๒,๕๕๕ บาท นางจันทร์ดี บุตรธนู ๑๐๐,๐๐๐ บาท นายธงชัย – นางแสวง พรหมวงศ์ เจ้าภาพไฟฟ้าทั้งหมด ๑๐๐,๐๐๐ บาท นายประสงค์ – นางสุข มุกขะกัง ๕๐,๐๐๐ บาท นายบุเพ็ง – นางน้อย ช่วยค้ำชู พระพุทธรูปนิลดำ ๑ องค์ ๑๓๐,๐๐๐ บาท
     
     จากการเริ่มสร้างพระพุทธรูปปางพระมหาภิเนษกรมณ์ และการได้รับประทานพระบรมสารีริกธาตุจากสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ทำให้จิตใจของชาวบ้านนาข่า พี่น้องประชาชนนทั่วไปได้หลอมดวงใจเป็นหนึ่งเดียว โดยมีการบริจาควัสดุ สิ่งของ เงินทอง จากงบประมาณ ๑๐,๐๐๐ บาท ปัจจุบันได้ก่อสร้างเป็นงบประมาณไปแล้วประมาณ ๑๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สิบสี่ล้านบาทถ้วน) ก็ด้วยเพราะบารมีของภูมิเจ้าที่ หลวงปู่หน่อย หลวงปู่ไสย์ และย่านาคา
  
     เมื่อผู้รับเหมาได้ดำเนินการส่วนแรกแล้วเสร็จ จึงได้มีการประชุมปรึกษาหารือในการวางศิลาฤกษ์พระพุทธรูปปางมหาภิเนษกรมณ์ โดยมีมติในที่ประชุมให้จัดงานในวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๙ โดยมีนายเริงฤทธิ์ พลนามอินทร์ ได้ติดต่อประสานงานกับนายปรีชา กันธิยะ อธิบดีกรมการศาสนาในขณะนั้นมาเป็นประธาน ทุกอย่างผ่านไปด้วยความราบรื่น โดยได้รับความร่วมมือจากพี่น้องชาวบ้านนาข่า จากหน่วยราชการต่างๆ ทั้งนี้ในการพบปะประชาชน ท่านอธิบดีได้มอบเงินสมทบทุนสร้างจำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท และขอประทานพระบรมสารีริกธาตุให้กับทางวัด เพื่อนำขึ้นประดิษฐานบนยอดพระเกศพระพุทธรูปปางพระมหาภิเนษกรมณ์ เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้รับแจ้งจากนายเริงฤทธิ์ พลนามอินทร์ วัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานี ให้ไปรับประทานพระบรมสารีริกธาตุ จากสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งนำความปลื้มปิติมาสู่พี่น้องชาวบ้านนาข่า
   
     ในวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๙ วัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานีและผู้ร่วมเดินทางจำนวน ๒๒ คน ได้ออกเดินทางไปที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก่อนออกเดินทางได้มรฝนโปรยปรายลงมาตลอดทาง เมื่อเดินทางถึงโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ท่านอธิบดีและคุณนายได้รอรับอยู่แล้ว จากนั้นสำนักพระราชวังจึงได้นำทุกคนเข้าเฝ้าและรับประทานพระบรมสารีริกธาตุจากพระหัตถ์ เมื่อเดินทางกลับถึงบ้านนาข่า จึงได้จัดให้มีการฉลองถึง ๓๖ วัน โดยในวันแรกได้มีฝนตกลงมาอย่างหนักในขณะทำพิธี ซี่งฝนก็ตกอยู่แต่ในบริเวณหมู่บ้านนาข่าเท่านั้น
     ปัจจุบันการก่อสร้างได้ก่อสร้างเรื่อยมากจนได้ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ และยังคงเหลือส่วนที่เป็นชั้นล่างที่เป็นพิพิธภัณฑ์เรียนรู้ชุมชน ซึ่งคงต้องใช้งบประมาณในส่วนนี้ประมาณ ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท (สองล้านห้าแสนบาทถ้วน) ก็จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ เพื่อให้ความฝันกลายเป็นจริงว่าจะมีพระพุทธรูปที่มีความสวยสด งดงาม ตระหง่านเป็นศักดิ์ศรีของชาวนาข่าตราบนานเท่านาน คงไม่นานเกินรอนับจากนี้ไป





ออกพรรษา

                จังหวัดอุดรฯพร้อมจัดงานเทศกาลออกพรรษา                   โดยปีนี้เน้นชูงานฝีมืองานผ้าชุมชนนาข่า   อุดรธานี -  เทศบาลต...